ประวัติพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา
- Details
- Category: หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา
- Published on Friday, 16 August 2013 08:56
- Written by Super User
- Hits: 5313
ประวัติพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ประดิษฐาน ณ หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา
สำนักปู่สวรรค์ได้ดำเนินการตามอุดมการณ์ ๑๐ ประการ สำหรับการดำเนินการในอุดมการณ์ข้อที่ ๕ “เทิดทูนพระมหากษัตริย์และสันติภาพเป็นสรณะ” เมื่อมีการดำเนินงานสร้างเมืองศาสนาแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ คณะกรรมการและคณะสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์โดยการนำของท่านทูตสันติภาพ อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ได้จัดสร้างพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีขึ้น และได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
มูลเหตุในการสร้าง
๑.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดราชบุรี
๒.พระองค์ท่านเคยเสด็จยาตราทัพ เพื่อขัดตาทัพพม่าข้าศึก ณ บริเวณอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนาในปัจจุบันนี้
๓.พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยในความอยู้รอดของประเทศไทย และพระราชวงศ์จักรีที่พระองค์ได้ทรงสถาปนาไว้ด้วยดี
ผู้แทนพระองค์เป็นประธานในพิธีเททอง
พิธีเททองพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พิธีเททองหล่อพระบรมรูป
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๙ ตรงกับวันมาฆบูชา ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะ หม่อมเจ้าชุมปกบุตร ชุมพล ได้เสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชตามพระราชกระแส ทรงเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระบรมรูป
เวลา ๑๓.๐๐ น. ผู้แทนพระองค์เสด็จถึง ศาลาชินนะปูโตอนุสรณ์ อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป นำโดยพระราชญาณดิลก เจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม ( วัดเขาเต่า ) อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขัณธ์ ถวายศีล ผู้แทนพระองค์ทรงศีลแล้วเสด็จออกไปยังเฉลียงหน้าศาลาชินนะปูโตอนุสรณ์ ถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ โต๊ะหมู่บูชาที่เฉลียง แล้วประทับนั่งทรงสดับการถวายรายงานจากประธานกรรมการจัดงาน
ต่อจากนั้นผู้แทนพระองค์ทรงมีพระดำรัสตอบ แล้วทรงรับไม้เททองและสายสิญจน์ตามลำดับ ประทานไม้เททองให้ผู้อำนวยการสำนักปู่สวรรค์ทำการเททองหล่อพระบรมรูป ระหว่างนั้นเจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัย วงดุริยสงค์บรรเลงเพลงมหาชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา เลขาธิการสำนักปู่สวรรค์กล่าวนำคณะกรรมการและสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ ตลอดทั้งผู้ซึ่งมาร่วมงานในพิธีจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ คน อธิษฐานพร้อมกัน
คำอธิษฐานในพิธีหล่อพระบรมรูป
๑.แผ่นดินนี้จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันมิได้
๒.ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
๓.ขอให้ชาวไทยทั้งประเทศรวมกันสามัคคี เพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทย คณะกรรมการสำนักปู่สวรรค์จะพยายามทุกวิถีทางที่จะพิทักษ์เอกราชของชาติไว้ให้ได้
เมื่อการเททองหล่อพระบรมรูปเสร็จสิ้นแล้ว ผู้แทนพระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาชินนะปูโตอนุสรณ์ ถวายเครื่องไทยทานแด่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ พระสงฆ์ทั้งนั้นถวายพระพรและถวายอดิเรกแล้วเสด็จกลับ
ข้อความสำคัญในคำกล่าวถวายรายงานและพระดำรัสตอบ
ประธานกรรมการจัดงาน ได้กราบทูลความตอนหนึ่งว่า “อนึ่งการที่สร้างพระบรมรูปในลักษณธท่านักรบนั้น ก็เพื่อให้บุคคลซึ่งมาสักการะบูชาระลึกว่า พระองค์ท่านได้ทรงต่อสู้กับอริราชศรัตรู พิทักษ์แผ่นดินไทยให้พวกเราทั้งหลายอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ ในยุคปัจจุบัน ถ้าพวกเราทั้งหลายมิสามารถพิทักษ์ความเป็นไทยไว้ได้แล้ว เมื่อตายไปดวงวิญญาณของพวกเราทั้งหลายจะมีหน้าไปพบบรรพบุรุษและวีรกษัตริย์ เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้อย่างไร”
ผู้แทนพระองค์ได้ทรงมีพระดำรัสตอบความตอนหนึ่งว่า “ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานอัญเชิญพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงคุ้มครองให้ท่านทั้งหลายปลอดภัย และทำงานในการพิทักษ์เอกราชได้สำเร็จ โดยปราศจากอุปสรรคและภยันตรายทั้งปวง”
อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ผู้อำนวยการหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา ทำพิธีบรรจุดินศักดิ์สิทธิ์ที่พระแท่นประดิษฐานพระบรมรูป
ผู้อำนวยการหุบผาสวรรค์เมืองศาสนาถวายพวงมาลาสักการะแด่พระบรมรูปฯ
เจ้าหน้าที่อัญเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนพระแท่น
ดินศักดิ์สิทธิ์
คณะกรรมการและสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๙ ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เพื่อขอดินศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด มาประกอบในพิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยตักดินที่สะอาดบริเวณศาลหลักเมืองหรือศาลเจ้าพ่อหอกลอง หากไม่มีศาลดังกล่าวก็ขอดินสะอาดบริเวณศาลากลางจังหวัด และเจ้าคณะจังหวัดช่วยตักดินที่สะอาด บริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทางศาสนาของจังหวัดนั้น
อนึ่งก่อนที่จะทำการตักดินดังกล่าวนั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าคณะจังหวัด หรือผู้ปฏิบัติงานแทนของท่านทั้งสองตั้งสัจจาธิษฐานรวม ๓ ข้อ ๓ ครั้ง ดังนี้
๑.แผ่นดินนี้จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว ใครจะมาแบ่งแยกมิได้
๒.ขอให้ความสามัคคีในแผ่นดินไทย จงสัมฤทธิผลทั่วแผ่นดิน
๓.ประเทศไทยต้องเป็นเอกราชอยู่คู่ฟ้าดินสลาย
ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าคณะจังหวัด หรือผู้ปฏิบัติงานแทนทั่วราชอาณาจักร ได้ให้ความร่วมมือตามนัยดังกล่าวด้วยดี และสำนักปู่สวรรค์ได้ดินศักดิ์สิทธิ์มาประกอบพิธีบรรลุผล สมความปรารถนาตามเป้าหมาย
พิธีอ่านโองการอัญเชิญพระบรมรูป
พิธีอัญเชิญพระบรมรูป
วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นวันจักรี เวลา ๙.๐๐ น. คณะกรรมการและสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ ได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นบริเวณหน้าถ้ำสาลิกา อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา โดยอาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักปู่สวรรค์และอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา เป็นผู้กราบบังคมทูลอัญเชิญ
เวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านทูตสันติภาพฯ ได้ประกอบพิธีอ่านโองการอัญเชิญพระบรมรูปฯ ต่อจากนั้นเลขาธิการสำนักปู่สวรรค์และสานุศิษย์ ประธานกรรมการบริหารสำนักปู่สวรรค์ได้กราบบังคมทูลต้อนรับ ในนามคณะกรรมการจัดงานเททองหล่อพระบรมรูป และประชาชนซึ่งได้ร่วมในพิธี เมื่อ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ นั้น
คำจารึก
คณะกรรมการและสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ได้จารึกพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและประวัติการสร้างพระบรมรูป ด้วยหินอ่อนไว้ที่พระแท่นดังนี้
(ด้านหน้า)
“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี
ประสูตร วันอังคารขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๒๗๔ เวลา ๑๗.๐๐ น.
ปราบดาภิเษก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปี พ.ศ.๒๓๒๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. พระชนมายุ ๔๖ พรรษา
งานพระราชสงคราม ปี พ.ศ.๒๓๓๔ เสด็จยาตราทัพมาตั้งที่บริเวณอาณาจักรหุบผาสวรรค์ฯ ยังผลให้เมืองทะวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริดยอมอ่อนน้อม
สวรรคต วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๓๕๒ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ พระที่นั้งไพศาลทักษินพระบรมหาราชวัง สิริพระชนมายุ ๗๓ พรรษา ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๗ พรรษา
พระราชกรณียกิจ ทรงประกอบคุณความดี ในการป้องกันพระราชอาณาจักร ปราบปรามอริราชศรัตรูภายนอก และเสี้ยนหนามแผ่นดินภายใน ตามหัวเมืองต่างๆจนราบคาบ ”
(ด้านหลัง)
“คณะกรรมการและสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์และอาณาจักรหุบผาสวรรค์ฯได้จัดพิธีหล่อพระบรมรูปนี้ขึ้น โดยหม่อมเจ้าชุมปกะบุตร ชุมพล เสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๙ และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่นี้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๙
อนุชนรุ่นหลังควรสำนึกด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน ที่ได้ทรงปกป้องประเทศชาติให้ดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้ตลอดมาจวบเท่าทุกวันนี้ และพึงถวายสักการะบูชาแด่พระองค์ท่านสืบไป”
พระบรมรูปสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช