ประวัติสันติเจดีย์ หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา
- Details
- Category: หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา
- Published on Wednesday, 31 July 2013 06:26
- Written by Super User
- Hits: 7123
ประวัติการสร้างสันติเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ ยอดเขาถ้ำพระ หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา
สันติเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมากที่สุด ในอดีต
๑.มูลเหตุในการจัดสร้าง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ได้ไปร่วมกันสร้างเมืองศาสนาขึ้นที่บริเวณเขาถ้ำพระ ตำบลดอนทราย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยเห็นว่าเขาลูกนี้เป็นสถานที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในประเทศไทย เนื่องด้วยพระโสณะมหาเถระและพระอุตระมหาเถระ คณะธรรมทูตซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้ทรงส่งออกไปเผยแพร่พุทธศาสนายังแหลมสุวรรณภูมิ ได้เคยมาพำนักที่ถ้ำสาลิกาในเขาถ้ำพระเมื่อปี พ.ศ. ๒๗๓ ก่อนที่จะไปประดิษฐานและเผยแพร่พุทธศาสนาที่บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเขาลูกนี้ไว้เป็นโบราณสถาน และสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ได้ใช้สถานที่นี้โดยได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ต่อมาจึงได้จัดตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หุบผาสวรรค์เมืองศาสนา”
การสร้างเมืองศาสนาแห่งนี้ บอกจากจะได้ดำเนินงานสร้างภราดรภาพทางศาสนาให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังแล้ว สานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์และอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนายังได้ทำการสร้างปูชนียวัตถุต่างๆทางพุทธศาสนาขึ้นไว้ด้วย เพื่อเป็นปัจจัยให้พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ และสังฆานุภาพ ปกป้องคุ้มครองผู้ซึ่งเข้ามาในเมืองศาสนา ตลอดจนชนเผ่าไทยทั่วประเทศและมนุษย์ทั้งโลก ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในกลางกลียุคนี้
ปูชนียวัตถุอันสำคัญที่สุดได้แก่พระเจดีย์บนยอดเขา ซึ่งสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์และอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา ได้ร่วมกันดำเนินการสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ และขนานนามว่า “สันติเจดีย์” โดยได้ประกอบพิธีวางศิลามงคลในวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ( วาสโน มหาเถระ ) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงเป็นประธานพิธีเจิมแผ่นศิลามงคล ณ บริเวณหน้าพลับพลาพรหมรังษี ม.จ.ชุมปกะบุตร ชุมพล ประธานกรรมการอำนวยการสำนักปู่สวรรค์ในขณะนั้น ทรงวางศิลามงคลบนยอดเขาตรงบริเวณที่มีลักษณะเป็นโหนก ณ เป็นจุดที่เชื่อว่าได้มีพระอรหันต์เสด็จมาประทับรอยพระบาทไว้ในอดีตกาล และ พล.ต.ปราการ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานกรรมการบริหารสำนักปู่สวรรค์ในขณะนั้นเป็นประธานจัดงาน
คำอธิษฐานในพิธี
ในพิธีดังกล่าวนั้นศาสนิกชนที่มารวมกันในวันนั้นได้พร้อมใจกันกล่าวคำอธิษฐาน รวม ๙ ข้อดังต่อไปนี้
๑.ขอให้ความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่มนุษย์ จงบังเกิดขึ้นทั่วแผ่นดินไทย
๒.ขอให้สันติเจดีย์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม จงตั้งมั่นอยู่แต่ในศีลในธรรม
๓.ขอให้ราชวงศ์จักรีทรงพระเจริญอยู่คู่ฟ้า
๔.ขอให้แหลมสุวรรณภูมิร่มเย็น และมวลมนุษย์อยู่เย็นเป็นสุข
๕.ขอให้สยามประเทศอยู่รอดปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งปวง
๖.ขอให้พระพุทธศาสนาจงยืนยงอยู่คู่โลก
๗.ขอให้ธรรมจงนำโลก
๘.ขอให้สันติเจดีย์จงศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่แผ่นดินไทย
๙.ขอให้คำอธิษฐานนี้สัมฤทธิ์ผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
๒.นิพพานเจดีย์
สานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์และอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนาได้รับความรู้จากท่านบรมครูเรื่อง “สันติเจดีย์” ว่าเป็นพระเจดีย์ที่เลียนแบบมาจาก “นิพพานเจดีย์”บนสวรรค์ ซึ่งในโลกมนุษย์เรียกชื่อว่า “จุฬามณีเจดีย์สถาน”
ตำนานของนิพพานเจดีย์มีอยู่ว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา และไดด้มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว บรรดากษัตริย์และเจ้าแค้วนต่างๆในชมพูทวีปซึ่งเสด็จไปในงานถวายพระเพลิง ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในเมืองใด ในที่สุดจึงได้มอบหมายให้โทณพราหมณ์ซึ่งเป็นพระราชครูของบรรดากษัตริย์และเจ้าแคว้นทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น โทณพราหมณ์ได้ถือโอกาสอัญเชิญพระทาฒะธาตุขวาเบื้องบนหลบซ่อนไว้ที่มวยผมเพื่อหวังเป็นสมบัติของตน องค์อัมรินทร์จอมเทพทรงพิจารณาเห็นว่า พระทาฒะธาตุขวาเบื้องบนนี้มิควรที่จะประดิษฐานอยู่ที่มนุษยโลก จึงได้อัญเชิญจากมวยผมของโทณพราหมณ์ขึ้นไปประดิษฐานบนดาวดึงส์เทวโลก แล้วรับสั่งให้พระวิษณุกรรมเทพบุตรนิรมิตรนิพพานเจดีย์ขึ้น เพื่อประดิษฐานพระทาฒะธาตุดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ได้อัญเชิญพระจุฬามณีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้อัญเชิญไปไว้ก่อนแล้ว เมื่อครั้งเสด็จออกมหาภิเนษกรณ์ ประดิษฐานไว้ด้วยกันในนิพพานเจดีย์นั้น
แบบจำลองสันติเจดีย์
๓.แบบสันติเจดีย์
อย่างไรก็ดีสำนักปู่สวรรค์ได้สร้างสันติเจดีย์โดยดัดแปลงแบบของนิพพานเจดีย์บางส่วน เพื่อให้เหมาะสมกับภูมิประเทศของยอดเขาถ้ำพระด้วย
แบบของสันติเจดีย์ที่ได้ดัดแปลงตามนัยดังกล่าวข้างต้น มีลักษณธเป็นพระเจดีย์ ๑๐ ยอด ตั้งอยู่บนมุขหน้า ๑ ยอด เป็นพระเจดีย์ขนาดกลางรูปทรงกลมแบบลังกา และตั้งอยู่บนห้องโถงประดิษฐานพระพุทธรูป อีก ๙ ยอดเป็นพระเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุมแบบพระเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ยอดใหญ่ ๑ ยอดอยู่ตรงกลาง มียอดเล็กตั้งอยู่รอบยอดใหญ่ ๔ มุม มุมละยอด และมียอดกลางตั้งตั้งอยู่รอบนอก ๔ มุมมุมละยอด ความสูงจากพื้นพระเจดีย์ถึงยอดฉัตร ๙ เมตร ( สูงเท่ากับพระพุทธถวายเนตรนิรภัยทุกทิศ ที่ประดิษฐานอยูบนยอดเขาทางด้านทิศตะวันตก และหันพระพักตร์มาสู่สันติเจดีย์)
พระพุทธปฏิมากร มหามุนีศรีหุบผาสวรรค์ (พระประธานในองค์สันติเจดีย์)
ระหว่างมุขหน้าและห้องโถงประดิษฐานพระพุทธรูป มีมุขกระสันอยู่ตรงกลาง ที่ผนังด้านนอก ๓ ด้านของมุขทั้งสองและห้องโถง ประดับรูปภาพสัตว์หิมพานต์แกะสลักด้วยหินอ่อน ที่ฐานมีรูปปั้นพญาครุฑ หนุมาน และสิงห์แบกบัลลังก์ประดิษฐานอยู่ ๓ ด้าน ทำนองเดียวกัน เว้นด้านหน้าเป็นประตูสำหรับเข้าห้องโถงประดิษฐานพระพุทธรูป ความหมายของพระเจดีย์ ๑๐ ยอด ได้แก่บารมี ๑๐ ทัศ ของผู้ซึ่งจะบำเพ็ญตามแนวทางพระโพธิสัตว์
พิธีวางศิลามงคลสันติเจดีย์ และภาพการเริ่มก่อสร้างสันติเจดีย์
๔.การก่อสร้าง
หลังจากที่ได้ประกอบพิธีวางศฺลามงคลสันติเจดีย์ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว คณะกรรมการของสำนักปู่สรรค์และหุบผาสวรรค์เมืองศาสนาก็ได้ดำเนินการสร้างสร้างสันติเจดีย์ต่อไป โดยมอบให้ อาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ เป็นผู้ออกแบบแปลนพร้อมทั้งทำหุ่นสันติเจดีย์ และร่วมกับคุณสวัสดี ศรีรัตโนภาส ทำการก่อสร้างสันติเจดีย์ตามแบบแปลนดังกล่าวนั้น สิ้นระยะเวลาก่อสร้าง ๒ ปีเต็ม ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างประมาณหนึ่งล้านเก้าแสนบาท
๕.การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ในระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างสันติเจดีย์อยู่นั้น คณะกรรมการของสำนักปู่สวรรค์และอาณาจักรหุบผาสรรค์เมืองศาสนา ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากบุคคลต่างๆดังต่อไปนี้
๑.พระอมฤตนันทะ ประธานคณะสงฆ์แห่งประเทศเนปาล ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลักษณะสัณฐานกลม คล้ายเมล็ดพันธุ์ผักกาด จำนวน ๕ องค์ จากประเทศเนปาล มามอบให้ ณ สำนักปู่สวรรค์เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙
๒.คณะธรรมทูตซึ่ง ท่านทูตสันติภาพ อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ เป็นหัวหน้าคณะ ที่ประกอบด้วยพระเทพโสภณ ศจ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล และ พ.ต.ท.บำรุง กาญจนวัฒน์ ได้เดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลักษณะสัณฐานกลมคล้ายเมล็ดถั่วเขียวจำนวน ๒ องค์ จากประธานคณะสงฆ์แห่งศรีลังกานิกายสยามวงศ์ ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ ๔ ถึง ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๙
๓.พุทธศาสนิกชนทั่วราชอาณาจักรไทยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนใหญ่มีลักษณะยาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ไปให้ที่สำนักปู่สวรรค์และที่หุบผาสวรรค์จำนวนมาก
ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากพุทธศาสนิกชนรวม ๓ ประเทศ ดังกล้าวข้างต้นนั้น คณะกรรมการสำนักปู่สวรรค์ได้อัญเชิญบางองค์ขึ้นประดิษฐานไว้บนโต๊ะบูชา ณ ตำหนักใหญ่ชั้นบนสำนักปู่สวรรค์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สรงน้ำและสักการะบูชาตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ถึงวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ และในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ จึงได้พร้อมกันอัญเชิญขึ้นบนหุ่นที่สร้างไว้เป็นแบบ เดินทางโดยรถยนต์ไปประดิษฐานไว้ที่อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา ทั้งนี้ได้แวะที่หน้าองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และที่หน้าที่ทำการเทศบาลเมืองราชบุรี เพื่อให้พุทธศาสนิกชนในพื้นที่ ๒ จังหวัดได้สรงน้ำและสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย
อนึ่งในวันพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวนั้น สานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์และหุบผาสวรรค์ได้ทราบจากท่านบรมครูว่า นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญตามพิธีต่อหน้าศาสนิกชนทั้งหลายในวันนั้น ยังมีพระบรมสารีริกธาตุจากที่อื่นๆเสด็จเข้าสู่สันติเจดีย์ รวมทั้งพระอรหันต์ธาตุอีกมาก รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๔ หมื่นองค์ สันติเจดีย์จึงเป็นปูชนียวัตถุที่มีพระบรมสารีริกธาตุมากที่สุดในโลก
เมื่อเสร็จพิธีตามกำหนดเวลาดังกล่าว พุ่มเงินพุ่มทองและธูปเทียนแพที่ใช้ในการพิธีให้คณะทูตานุทูตและผ็แทนของ ๙ ประเทศ อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปถวายสมเด็จพระสังฆราช องค์ประธานในพิธีในวันนั้น คณะกรรมการได้นำไปประดิษฐานไว้ในปราสาทรอบหุ่นสันติเจดีย์ ๓ ด้านเรียงตามลำดับประเทศทั้งเก้า โดยมีธงชาติของแต่ละประเทศแสดงไว้เป็นอนุสรณ์ นอกจากนี้ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจำนวนหนึ่ง มาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชาข้างหน้าหุ่นสันติเจดีย์ เพื่อให้ศาสนิกชนทั้งหลายซึ่งไปเยือนอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนาทำการสรงน้ำสักการะบูชาตามความศรัทธาเลื่อมใสอีกด้วย
** บทความเพิ่มเติม 46 ปี การวางศิลามงคลสร้าง “สันติเจดีย์”