หลวงปู่ทวด-การเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง
- Details
- Category: โอวาทหลวงปู่
- Published on Wednesday, 17 April 2024 14:04
- Written by Super User
- Hits: 117
การเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง
วันนี้อาตมาภาพขอเทศน์เรื่องการเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง ผู้ใหญ่ไม่ใช่ผู้ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูงมารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ก็คือ ต้องสุขุมรอบคอบและจะต้องไม่ยึดติด “เสียง” เป็นหลัก “เสียง” นี่ไม่มีตัวตนแต่เสียงสามารถทำให้มนุษย์รักกันได้ถ้ามนุษย์ผู้ใดคิดจะทำงานเพื่อส่วนรวมก็ดีจะอวดตนเป็นผู้ใหญ่ก็ดีควรจะต้องไม่ติด "เสียง” เป็นจุดแรกก่อน
การเป็นผู้ดีจะต้องมีสัจจะ ไม่กล่าวร้ายบุคคลที่สามลับหลัง เช่น นาย ก. เป็นผู้ใหญ่ได้ยิน นาย ข. มาพูดเรื่อง นาย ค. ให้ฟัง นาย ก. จะต้องคิดทันทีว่า นาย ข. นี้เป็นบุคคลเช่นไร นาย ก. จะต้องมีความสำนึกว่านาย ข.เป็นผู้ดี เขาควรจะต่อว่านาย ค. โดยที่คน ๆ นั้นอยู่ต่อหน้าไม่ใช่คน ๆ นั้นไม่มีโอกาสพูด ไม่มีโอกาสแก้ตัว
โลกทุกวันนี้ยุ่งยากก็เพราะมนุษย์ที่อวดตนหรือยกตนเป็นผู้ใหญ่ยังติดเสียง มนุษย์ที่อวดว่าตนเป็นผู้ดีเรียนรู้มากยังไม่มีจรรยาในการ “พิจารณาตน” ถ้าสัตวโลกอยู่กันอย่างไม่ยึดตน ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดอุปาทาน ถ้าละทิ้งได้ ไม่ยึดสิ่งใดเลยโลกนี้ย่อมไม่สงบ ท่านต้องเข้าใจว่า “การให้ทุกข์เขานั้น ทุกข์นั้นถึงตัวท่านเองแน่นอน” นี่เป็นหลักความจริง
สมัยเมื่ออาตมามีสังขารอยู่ปัตตานี ในระยะเริ่มแรกสร้างวัดช้างให้ มีแขกมลายูคนหนึ่งมาบวชอยู่ในวัดของอาตมา แขกมลายู จะสอนให้สวดมนต์ก็ดีจะสอนการอ่านก็ดี ย่อมทำไม่ได้ อาตมาจึงบอกเขาว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องสวดมนต์ละ ท่องเพียงสองคำก็พอ คือ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แขกคนนั้นที่อยู่ในการปกครองของอาตมาตื่นเช้าขึ้นมาก็ออกบิณฑบาตตามปกติ กลับมาก็นั่งท่องแต่คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”“ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”
มีแขกมลายูด้วยกันเป็นพวกเลี้ยงแพะ เลี้ยงแกะ มาเที่ยวที่วัด บอกว่าพระองค์นี้มันพูดอะไรของมันไม่ทราบท่องแต่ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”“ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แขกคนนี้ไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่รู้ภาษาไทยดีก็บอกว่าไม่จริง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นไม่ถึงตัวหรอก” จึงตั้งใจจะพิสูจน์คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” จริงหรือไม่ วันหนึ่งได้ไปทำโรตีแบบที่ปักษ์ใต้เขาของกันกันสมันนั้น คือโรตีแบบแขก แล้วก็ใส่ยาพิษลงไปด้วยนำไปใส่บาตร พระมลายูที่ท่อง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” บังเอิญเจ้ากรรมวันนั้นพระมลายูองค์นี้บิณฑบาตได้อาหารมามาก แล้วก็ฉันอิ่มจึงนำโรตีสองชิ้นที่แขกนั้นใส่บาตรไปเก็บเอาไว้ส่วนคนที่ต้องการพิสูจน์คำว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” มีลูกอยู่สองคน พอเที่ยงก็หิ้วข้าวมาให้พ่อซึ่งเลี้ยงวัวอยู่ในแถบวัดนั้นกิน แถวนั้นมันเป็นโคกโพธิ์ด้านขวามีภูเขาน้อย ๆ เด็กทั้งสองคนเดินเที่ยวไปถึงกุฏิของพระที่ท่อง “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว”
พระองค์นี้เห็นว่าเด็กทั้งสองคนนี้น่ารัก บัดนี้ก็เลยเพลแล้ว โรตีที่เก็บไว้ก็จะเสียวเปล่า จึงนำเอาโรตี ๒ แผ่นที่พ่อเด็กเขาใส่ยาพิษที่จะให้พระนี้ฉัน ให้เด็กสองคนนั้นกินเด็กสองคนนั้นกินแล้วกลับไปถึงบ้านก็ป่วยทันที ครั้นใกล้จะตายพ่อถามว่า “เมื่อเจ้าเอาข้าวมาส่งให้พ่อนะ เจ้าไปกินอะไรมาหรือเปล่า” ลูกสองคนนั้นบอกว่าไปที่กุฏิพระองค์หนึ่งที่เป็นชาวมลายูด้วยกันเห็นท่องแต่ “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” เห็นว่าแปลก ไม่รู้ว่าเป็นอะไรท่องแต่คำนี้คำเดียว พระนั้นสงสารลูกได้ให้โรตีสองอันกิน
ในที่สุดแห่งการพิสูจน์ว่า “ให้ทุกข์เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” ก็ปรากฏขึ้น เขาต้องการฆ่าพระองค์นั้น แต่กลับกลายเป็นฆ่าลูกสุดที่รักของเขาเอง
เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัว เรามีความบริสุทธิ์ เรามีความเที่ยงธรรม เรามีหลักขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา คุณธรรมเหล่านี้จะรักษาเราให้ปลอดภัยทุกอย่าง
ทีนี้การเป็นคน ท่านยึดเสียงหรือไม่ ท่านยึดคำพูดดีหรือไม่ ท่านยึดคำพูดเลวหรือไม่ ถ้าท่านยึดสิ่งเหล่านี้แล้ว ท่านจะเป็นนักพรตที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักบุญที่ดีไม่ได้ ท่านจะเป็นนักปกครองที่ดีไม่ได้ มนุษย์เราถ้ายังติดเสียงติดคำชมและด่า มนุษย์ผู้นั้นยังมีใจไม่ถึงธรรม “สัจธรรม เป็นธรรมอันประเสริฐ” เป็นสิ่งที่แน่แท้ ทำไมสำนักปู่สวรรค์ จึงยึดจุดนี้ก็เพระว่าความจริงย่อมเป็นความจริง สิ่งที่เลวก็เป็นความจริงแห่งความเลว สิ่งดีก็เป็นความจริงของความดีที่จะกล่าวต่อไปในยุคต่าง ๆ ของมัน โดยไม่มีอะไรแปรเปลี่ยนไปได้ ธรรมชาติของโลกกียะและโลกุตระมันเดินของมันเอง เราจะชนะความเลวด้วยความดี เราต้องมีอุเบกขาหมายถึงคิดว่าสิ่งนี้เราต้องทำ ไม่ใช่เพื่อชื่อ ไม่ใช่ทำเพื่อความมีอำนาจ เมื่อท่านทำใจได้เช่นนี้ท่านก็จะเป็นคนที่ดีได้และจะเป็นเสียสละที่ดีได้ด้วย
ทีนี้การที่เราจะให้คนอื่นเหมือนเราหมดย่อมไม่ได้มนุษย์ต่างตนต่างเกิดมาในโลกนี้มีกรรมวิบากของตนไม่เหมือนกัน เมื่อมีกรรมวิบากของตนไม่เหมือนกันมนุษย์ผู้นั้นอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน มีคุณธรรมไม่เท่ากัน เราจะเอาใจของเราเป็นสรณะว่าที่เราทำนี้ถูก ทุกคนจะต้องว่าถูกเหมือนเรานั้นไม่ได้ ท่านเข้าใจคำว่า “นานา จิตตัง” หรือ “นานา มโน” หรือไม่ คือแต่ละคนมีความคิดของตนเป็นหลัก เราจะทำอะไรควรต้องมีความสุขุมรอบคอบ เราต้องคิดถึงคนอื่นว่าทุกคนไม่เก่งเหมือนเรา ทุกคนไม่เหมือนเรา ดังนั้นจำเป็นต้องมีอภัยทานเป็นสรณะ ถ้ามนุษย์เราไม่มีการให้อภัยเป็นหลัก เมื่อมนุษย์ผู้นั้นตายไปก็จะมีแต่กิเลสตัณหาแห่งความยึดมั่นในตน จะมีแต่ความพยาบาทอาตมาจองเวรเมื่อจิตไม่บริสุทธิ์ย่อมเป็นทางนำไปสู่อบายภูมินี่คือหลักความจริงของโลกวิญญาณ
เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่อยากจะเทศน์อะไรมากเพียงแต่ขอให้เข้าใจว่า จงมีขันติ สัจจะ บริสุทธิ์ เมตตา จงมั่นอยู่ในคุณธรรมทุก ๆ ประการ อย่าติดเสียงไม่ว่าเสียงดีหรือเสียงไม่ดี อันตรายใด ๆ จะทำอะไรท่านไม่ได้เลย
เจริญพร
(เทศน์ ณ สำนักปู่สวรรค์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ เวลา ๑๔.๔๕ น.)