หลวงปู่ทวด-ความวุ่นวายเกิดจากจิต
- Details
- Category: โอวาทหลวงปู่
- Published on Thursday, 11 June 2015 06:00
- Written by Super User
- Hits: 2688
ความวุ่นวายเกิดจากจิต
โอวาทของสมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด(เหยียบน้ำทะเลจืด)
เทศน์โปรดชาวลำปาง เมื่อ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๘
เจริญพร
สาธุชนที่เดินทางมาจากทางเหนือ สำเนียงที่ท่านได้ฟังนี้เป็นสำเนียงทางใต้ ซึ่งในฐานะที่อาตมาเป็นประธานสำนักปู่สวรรค์ ท่านทั้งหลายก็ได้อุตส่าห์เดินทางจากทางภาคพายัพมาสู่สำนักฯนี้ เรียกว่าท่านทั้งหลายมีความกระตือรือร้นใคร่ค้นหาสัจจะแห่งความจริง คือ ในภาวะขณะนี้ในสังคมชาวสยามประเทศ อยู่ในสังคมของความวุ่นวาย อยู่ในสังคมแห่งความทิฐิ ในการปัจจุบันเป็นการที่วัตถุเจริญ ในภาวะแห่งวัตถุเจริญ ทำให้การสื่อสารก็ดี การเผยแผ่ก็ดี การพูดจาก็ดี การโฆษณาก็ดี เป็นการที่ทำให้เร็วไวกว่าบุราณกาล ภาวะแห่งความเร็วไวกว่าบุราณกาลนี้ จึงทำให้การติดต่อในสังคมมนุษย์ถึงกันไวกว่าในอดีต
แต่ในปัจจุบัน มนุษย์ถูก การปลุกปั่นหัว จนไม่ทราบว่าจะแลอะไรเป็นหลัก จะยึดอะไรเป็นที่พึ่ง และภาวะเช่นนี้ จึงเรียกว่าเป็นภาวะแห่งความวุ่นวายของมนุษย์ ทีนี้ ภาวะแห่งความวุ่นวายของมนุษย์ อะไรจึงทำให้เกิดความวุ่นวายได้ สิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายก็คือ “จิต” จิตของมนุษย์นี้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิทธัตถะ ได้บัญญัติแห่งสมมติว่าเปรียบเสมือนหนึ่ง “ลิง” ภาวะแห่งจิตของมนุษย์เปรียบเสมือนหนึ่งลิงนี่แหล่ จึงทำให้สภาวะเกิดอารมณ์แห่งความโลภ แห่งความโกรธ แห่งความหลง ภาวะเหล่านี้ หลักของพระพุทธศาสนากล่าวว่าเป็นภาวะแห่งพญามารที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในกายของมนุษย์
ทีนี้ บางท่านที่มาที่นี้ ก็ยังไม่เข้าใจในเรื่องของวิญญาณ แล้วก็สงสัยว่าทำไมเขาเชิญวิญญาณที่อื่น เขาจะเชิญกันมาเมื่อไรก็ต้องมา แต่ทำไมมาที่นี่จึงต้องมีระเบียบวินัย ก็ใคร่ที่จะแถลงไขให้ทราบว่า อาตมาไม่ใช่มาหากินกับมนุษย์ การที่อาตมา มาในโลกมนุษย์ครั้งนี้สืบเนื่องจากภาวะกลียุคที่จะเกิดขึ้นในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ และด้วยการดิ้นรนของพระเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี ผู้ที่มีเชื้อสายแห่งจักรีวงศ์ ที่ได้ดิ้นรนลงมาตั้งสำนักปู่สวรรค์ในโลกมนุษย์ ซึ่งทำให้อาตมาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสำนักปู่สวรรค์ในโลกวิญญาณต้องมาดูแลสำนักฯ ในโลกมนุษย์ เพราะฉะนั้น เข้าใจว่า ความเชื่อก็ดี ความยึดถือก็ดี ความศรัทธาก็ดี แล้วแต่ท่านพิจารณา แล้วแต่ท่านที่จะยึดถือ เพราะว่าทุกคนเขาเรียกว่า สวรรค์สร้างให้เรามีมนุษย์สมบัติแห่งการมีสติสัมปชัญญะแห่งการมีสมองในการคิด ในการทำ ในการพูด ท่านจะต้องใช้วิจารณญาณแห่งการเป็นมนุษย์พิจารณา ฉะนั้น การทำงานที่นี่ จึงทำงานแบบไม่เหมือนใคร แล้วก็ทำกันอย่างเปิดเผย ไม่มีการซ่อนเร้นใดๆทั้งสิ้น เพราะเราถือว่าเป็นการทำงานของโลกวิญญาณที่มาทำงานโดยตรง เพื่อช่วยสัตว์โลกที่กำลังตกอยู่ในทะเลแห่งความบ้าคลั่งในกลียุค
ทีนี้ เมื่อความวุ่นวายทั้งหลายเกิดจากจิต เราจะทำยังไงจึงจะระงับความวุ่นวายทั้งหลายได้เล่า ทุกอย่างแห่งภาวะ ทุกอย่างแห่งความสำเร็จ เราเป็นมนุษย์เราต้องแลให้ดี แลในลักษณะอย่างไรของการที่จะสัมฤทธิ์ผล ให้ค้นปัจจัยในวิบากในกรรมนั้นๆ ล้วนแต่เกิดจาก ๓ กรรมพร้อม ๓ กรรมพร้อมในที่นี้คือ
กรรมที่หนึ่ง คือ มโนกรรม ทุกอย่างจะต้องเกิดจากมโนภาพความคิดภายในแห่งจิตของแต่ละคน เมื่อมโนกรรมนั้นคิดแล้ว ซึ่งแล้วที่จะสำแดงออก ก็กลายเป็นวจีกรรม คือการพูด การป่าว การบอก เมื่อภาวะวจีกรรมเสร็จแล้ว ผลที่จะเข้าสู่เป้าแห่งความสำเร็จก็คือ กายกรรม
ฉะนั้นจึงเรียกว่า ๓ กรรมพร้อม เป็นสัมฤทธิ์ผลแห่งการกระทำของมนุษย์ ทีนี้ท่านทั้งหลายเมื่อรู้ว่า ๓ กรรมพร้อมเป็นกฎแห่งการสัมฤทธิ์ผลในมนุษย์แต่ละรูป แต่ละนาม แต่ละสังคม แล้วจะทำอย่างไรให้ ๓ กรรมพร้อม แห่งความสัมฤทธิ์ผลในโลกมนุษย์มีทางเป็น “กรรมดี” กรรมดีในที่นี้ หมายถึง เราจะต้องไม่มีการเบียดเบียน มีมโนภาพต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในทางที่ดี ที่ชอบ มีมโนภาพที่ก่อขึ้นในมโนมยิทธิในทางเมตตาเป็นธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ปัญหานี้ก็คือปัญหา “ต้องพิจารณาตน” การพิจารณาตนก็คือ ถ้าเกิดเป็นคนต้องรู้ว่าเป็นภาวะของจิต ภาวะของจิตที่คิดในอกุศลไม่ดี เราต้องตามทันแห่งอารมณ์ในอกุศลนั้นๆ ด้วยการดับในอกุศลที่เกิดขึ้นในมโนมยิทธิให้เป็นกุศล ให้เป็นกุศลนั้นก็คือ เราต้อง “ปลง” ที่เราวุ่นวายเพราะทุกคน “ไม่ปลง” ทุกคนยึดในมโนมยิทธิของตน เป็นการที่เรียกว่าเป็นมโนมยิทธิในทางที่ผิด คือ
หนึ่ง หลงตนว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่
สอง จำพวกที่หลงตนว่าเป็นผู้มีอำนาจ
สาม จำพวกที่หลงตนว่าเป็นเศรษฐี มีเงินทองมากกว่าใคร
เมื่อมนุษย์ต่างฝ่ายต่างหลงตนอยู่เช่นนี้ ก็ไม่มีจุดแห่งความ “ละ” ถือจุดแห่งความมีทิฐิ ต่างคนต่างที่จะยึดว่าของตนถูก ก็เกิดการที่จะแบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทางหลักภาษาของทางธรรมะเรียกว่า เป็นการเกิดชั้นวรรณะในสังคมของมนุษย์ขึ้น ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาตั้งแต่เปิดโลกมาแล้ว
แต่ว่าแต่ละยุคก็มีพระบรมศาสดาจารย์ที่ส่งมาจากโลกวิญญาณลงมา เพื่อชี้จุดแห่งสัจธรรมให้แต่ละกลุ่ม แต่ละหมู่ที่มีมโนมยิทธิในการ หลงตน ยึดตน ให้คลาย เมื่อในกลุ่มมนุษย์ที่อยู่ในสังคมต่างคนต่างคลายในการยึดตนแล้ว ต่างคนต่างมีมโนภาพในทาง “ละ” แล้ว ก็ย่อมที่จะเกิดความเห็นอกเห็นใจในสังคมมนุษย์ได้ ในหมู่เพื่อนมนุษย์ได้ ในหมู่ผู้เกี่ยวข้องของสังคมนั้นได้เกิดความอันนี้ หลักของภาษาธรรม เรียกว่า เกิดเมตตาในใจขึ้น ในมโนภาพหรือเรียกว่าในมโนมยิทธิที่มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
ฉะนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาของโลกที่เป็นมานาน จะใช้ได้แต่ละยุคก็ต้องมีผู้ที่ถึงฝั่ง ในการที่เรียกว่าใกล้ธรรมหรือว่าถึงฝั่งในการที่ถึงธรรม ได้เป็นคนเสียสละในตนที่ไม่ยึด แล้วออกไปเผยแผ่ให้เพื่อนมนุษย์ทั้งหลายที่ไม่ยึด จากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จากแสนเป็นล้าน จากล้านเป็นสิบล้านเป็นร้อยล้าน ก็ค่อยๆแผ่ขยายไป ก็เกิดสันติได้
แต่ถ้ามนุษย์ที่มีธรรม มนุษย์ที่ฟังธรรม มนุษย์ที่เข้าใจธรรม คิดว่าเรื่องไม่ใช่ของเรา เรื่องไม่ใช่ของฉัน ฉันจะเอาทางของฉัน ฉันรู้ของฉันคนเดียว ฉันจะหาทางรอดของฉัน ถ้าทุกคนคิดเช่นนั้น ความแคบของโลกก็ใกล้เข้ามา เพราะอะไรเล่า เพราะว่าไม่มีความใจกว้าง ไม่มีความเมตตาต่อสัตว์โลกที่เกิดมาใช้กรรมด้วยกัน เรียกว่าตนตนรู้แล้วก็เก็บ แล้วก็ยึด
ฉะนั้นจึงเข้าสู่เป้าหมายว่า ความวุ่นวายของโลกนั้นเกิดจากมนุษย์มีตัว “ยึด” ท่านทั้งหลายได้เดินทางมาจากภาคเหนือได้ดิ้นรนอุตสาห์มาเพื่อหาสัจธรรม เพื่อหาความจริงในพิภพ อาตมาก็ได้ชี้ทางแห่งความวุ่นวายให้ท่านทั้งหลายได้ฟังพอประมาณ
ดังนั้น ปัญหาเรื่องนี้ที่จะให้มนุษย์ยุติความวุ่นวายได้ขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลายที่มาจากภาคเหนือ ที่จะช่วยพี่น้องทางภาคเหนือได้เพียงไร และขึ้นอยู่กับว่า ท่านจะเผยแผ่หรือไม่ คือ
จุดสำคัญมนุษย์เราต้องคิดถึงว่า อะไรที่เราทำนั้น เราทำเพื่อคนอื่น
เราทำเพื่อสันติ เราทำเพื่อความร่มเย็น เราทำเพื่อให้คนอื่นมีความสบาย
เราย่อมมีเกียรติเหนือกว่าใคร เราย่อมมีคุณธรรมเหนือกว่าเขา
เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวเขาว่าให้เสียเกียรติ กลัวเขาหาว่าเราเป็นคนโง่เง่า
กลัวเขาหาว่าเราเป็นคนครึ
ถ้าเรามีอารมณ์เหล่านี้เข้าในกระแสจิตแล้ว ก็แสดงว่าเราก็เหมือนเขา เหมือนเขาในฐานะแห่งการเป็นสัตว์โลกที่ตกอยู่ในตมที่แน่นหนักเหนียวในสังสารวัฏ ไม่มีทางพ้นการเกิดการตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เพราะอะไรเล่า ? เพราะเราไม่เข้าซึ้งถึงถึงสัจจะ เราไม่เข้าซึ้งถึงธรรมะ เราไม่รู้ซึ้งถึงธรรมะ เราไม่รู้จักหลักแห่งความจริงของสัตว์โลก คือเราไม่มีคุณธรรมแทรกเข้ามาในมโนจิตเรานั่นเอง เราจึงกลัวคำว่า “เสียเกียรติ” เมื่อพูดความดี เสียเกียรติเมื่อชักจูงคนไปทางธรรมะ เสียเกียรติ ขายหน้าเมื่อชวนคนทำบุญ
ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายถือว่า “สิ่งที่ท่านพิจารณาจะช่วยเพื่อนมนุษย์ สิ่งนั้น คือ ท่านมีเกียรติเหนือกว่าคนที่พูด” และหวังอย่างยิ่งว่า เมื่อเราทั้งหลายได้ฟัง ได้รู้และพิจารณาธรรมแล้วว่า ความวุ่นวายของมนุษย์เกิดจากจิต ทำอย่างไรจึงจะให้เพื่อนมนุษย์หยุดจิต จิตต้องเคลื่อนไปตามกรรมวิบากของกรรม แต่ว่าอย่าให้อารมณ์แห่งอกุศลกรรมเข้าสู่จิตมนุษย์ ก็คือ ต้องชำระจิตด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า คติธรรมเล็กๆน้อยๆ ที่ไร้สาระในวันนี้ให้ท่านทั้งหลายฟัง ก็เพียงพอจะเป็นคติในการดำเนินชีวิตให้เกิดสันติในตัวขึ้นได้ และขอให้ท่านทั้งหลายจงประสบความสำเร็จในชีวิตแห่งความเป็นมนุษย์เถิด
เจริญพร