E-book สวรรค์รำลึก

สถิติเยี่ยมชมเว็บสวรรค์รำลึก

2033639
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
258
656
5363
2021520
15996
15049
2033639

Your IP: 18.218.121.9
Server Time: 2024-12-21 16:08:41

รำลึกศึกษา

ศึกษาประวัติของหุบผาสวรรค์เมืองศาสนาในอดีต

ร้านหนังสือสวรรค์รำลึก

เยี่ยมชมเรา

สื่อมงคลสำนักปู่สวรรค์

สิ่งดีที่ฝากไว้ ดร.คลุ้ม วัชโรบล

ความรู้ทางวิญญาณ จากการศึกษาของ ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล

ภาพยนต์รำลึก

ชมภาพยนต์ประวัติศาสตร์และสื่อเพื่อการศึกษาค้นคว้า

มาบริจาคโลหิตกันเถิด

มาบริจาคโลหิตกันเถิด

โดย ศ.สวรรค์รำลึก

ar-blood-350

ความสุขเกิดจากการให้ มิใช่จากการได้ (Happiness depends on what you give, not what you can get.) คำอมตะจากท่านมหาตมะคานธี ที่แสดงสัจธรรมของชีวิต เป็นความจริงทีเดียวว่าเมื่อเราให้อะไรกับใคร โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน มักมีสิ่งหนึ่งตอบแทนกลับมาแทบจะทันทีก็คือ ความอิ่มใจ และการปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นออกจากจิตใจเราไปอีกเรื่อยๆ

ในทางพุทธศาสนาเรียกการให้อย่างไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทนว่า ทานและทานหรือการให้นี้เองก็เป็นหลักปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ที่ท่านถือปฏิบัติมาตั้งแต่เริ่มดำเนินชีวิตสะสมบารมีจนสำเร็จ ก็ด้วยทานและการปฏิบัติจิต

ในปัจจุบันนี้โลหิตของมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับผู้ป่วยเจ็บ ผู้ทีเสียเลือดจากอุบัติเหตุ หรือโรคภัยที่ร้ายแรง ในยามที่เกิดภัยพิบัติมีผู้บาดเจ็บมากมาย ต้องการโลหิตเป็นจำนวนมากในการช่วยชีวิตพวกเขาเหล่านั้น องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำแก่ประเทศต่างๆว่า ควรมีปริมาณโลหิตสำรอง อยู่ในเกณฑ์ ๒ % ของจำนวนประชากร แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยของเรามีปริมาณโลหิตสำรองเพียง ๑.๖ % เท่านั้น  

ar-blood-300-02 

ศาตราจารย์ กิติคุณ ดร.พิชัย โตวิวิชญ์ ประธานชมรมสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์  เมื่อครั้งเริ่มกิจกรรมบริจาคโลหิต

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้น ชมรมสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ยุคอาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์บุกเบิกในพระอุปถัมภ์ของเสด็จพ่อท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ (ชสปส.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่ประเทศไทยของเราจะต้องจัดหาปริมาณโลหิตสำรองให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แม้ชมรมฯจะเป็นองค์กรเล็กๆแต่ก็มีความตั้งใจและมุ่งมั่น ประกอบกับเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ ๕๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ชมรมสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ฯ จึงได้เริ่มกิจกรรมรับบริจาคโลหิตขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากสภากาชาดไทย เป็นผู้มาบริการรับโลหิต โดยเริ่มรับบริจาคโลหิตครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๔๓

ประโยชน์ของการบริจาคโลหิต

การให้ย่อมมีการตอบแทนแม้ผู้ให้จะไม่หวัง การบริจาคโลหิตนั้น มีคุณประโยชน์ต่อผู้บริจาคหลายประการดังนี้

๑.ประโยชน์ต่อสุขภาพ

๑.๑ เมื่อเราบริจาคโลหิตออกจากตัวเราไป ในระยะต่อมาไขกระดูกในร่างกายของเราก็จะผลิตเม็ดเลือดขึ้นมาใหม่ และส่งเข้าไปสู่ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายของเรา ระบบการไหลเวียนโลหิตของเราก็จะดีขึ้น ร่างกายก็จะค่อยๆแข็งแรงขึ้น และผลของระบบการไหลเวียนดีก็จะทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้นโดยไม่ต้องไปเสริมความงาม

๑.๒.สถาบันคาโรลินสกา สตอคโฮล์ม สวีเดน ได้ศึกษาข้อมูลจากผู้บริจาคเลือดสวีเดนและเดนมาร์ค พบว่า การบริจาคเลือดช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งได้หลายชนิดเลย เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหารการบริจาคโลหิตช่วยลดการสะสมของปริมาณธาตุเหล็กส่วนเกินที่มีผลต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

๒.ประโยชน์ต่อจิตวิญญาณ

๒.๑.การบริจาคโลหิตเป็นการบำเพ็ญ”มหาทาน” เพื่อช่วยชีวิตคนอื่น ผู้บริจาคย่อมมีกุศล สนองทั้งในชาตินี้และติดตัวไปในชาติภพหน้า

๒.๒.การบริจาคโลหิตเป็นแนวทางของพระโพธิสัตว์คือเราเสียสละเลือดเนื้อเพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือทุกข์ทรมานได้รอดชีวิต หรือหายจากความทุกข์ทรมาน การบำเพ็ญเช่นนี้บ่อยๆย่อมยกระดับจิตวิญญาณของเราให้สูงขึ้นทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนโพธิบารมีให้สูงขึ้น

๒.๓.นอกจากนี้การบริจาคโลหิตยังมีอานิสงส์คือ เกิดมาชาติหนึ่งภพใด จะเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง สมส่วนจะไม่เกิดในชนชั้นต่ำ ไม่เกิดในบ้านป่าเมืองเถื่อนเข้ากับเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายประกอบอาชีพใด ๆ ก็จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจิตใจเป็นสัมมาทิฐิ เรียนรู้ธรรมะเข้าใจได้ง่ายทำให้มีจิตใจเมตตา ไม่โหดร้ายเป็นการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาชีวิตที่ดีจะได้บุตรธิดาที่ดีมาสืบสกุลหากเจริญพระกรรมฐาน จะบรรลุธรรมได้ง่าย

                การบริจาคโลหิตแม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ถึงกระนั้นการบริจาคโลหิตยังต้องอาศัยร่างกายและความพร้อมของผู้บริจาค เพื่อไม่ให้เกิดโทษต่อตัวผู้บริจาคและได้โลหิตที่มีคุณภาพด้วย มีข้อแนะนำจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ในเรื่องของการปฏิบัติก่อน ระหว่าง และหลังการบริจาคโลหิตดังนี้

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

           -นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในเวลานอนปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต

           -สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ ไม่เป็นไข้หวัด หรืออยู่ระหว่างรับประทานยาแก้อักเสบใดๆ

           -รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ อาหารที่ประกอบด้วยกะทิ แกงต่างๆ ของทอด ของหวาน ฯลฯ เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมาผิดปกติเป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้

           -ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณ โลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต

           -งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

         -งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต

           -สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว

           -เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิตไหลลงถุงได้ดี ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้ง เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

           -ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล

           -ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต

           -ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทราบทันที

           -หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยนอนพักบนเตียงสักครู่ ห้ามลุกจากเตียงทันที อาจทำให้เวียนศีษะเป็นลมได้ ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง

หลังบริจาคโลหิต

           -ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีบริการให้ ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน

           -หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันการบวมช้ำ

           -ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที

            -ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อส กดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล

           -ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน

           -รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และรับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต

1. มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ พร้อมที่จะบริจาคโลหิต

2.อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ผู้ที่มีอายุ 17 ปี ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง ถ้าเป็นผู้บริจาคครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี

   2.1 การคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตอายุ > 60-70 ปี

       2.1.1 ผู้บริจาคโลหิตอายุ >60-65ปี

1). เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำมาโดยตลอดจนกระทั่งอายุ 60 ปี

2). บริจาคโลหิตได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้งคือทุก 4 เดือน

3). ตรวจ Complete Blood Count ( CBC ) ทุกครั้งก่อนบริจาคโลหิต

4). ตรวจ Serum Ferritin ( SF ) , Blood Chemistry ( BC ) ปีละ 1 ครั้ง

5). แพทย์หรือพยาบาลพิจารณาและบันทึกผล SF และค่า Hb และ Hematocrit และค่าที่ผิดปกติของการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ถ้าผลเลือดและความดันโลหิตปกติ อนุญาตให้บริจาคโลหิตได้

2.1.2 ผู้บริจาคโลหิตอายุ > 65-70ปี

1). เป็นผู้บริจาคโลหิตต่อเนื่องสม่ำเสมอในช่วงอายุ > 60-65 ปี

2). บริจาคโลหิตได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง คือทุก 6 เดือน

3). ตรวจ CBC ทุกครั้งก่อนบริจาคโลหิต

4). ตรวจ BC, SF, และ EKGปีละ 1 ครั้ง

5). มีใบรับรองแพทย์ ออกโดยแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ของศูนย์บริการโลหิตฯ

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในเวลาปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่มาบริจาคโลหิต

4. ไม่มีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ใน 7 วันที่ผ่านมา หรือกำลังเป็นไข้หวัด

5. สตรีไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

6. น้ำหนักต้องไม่ลดผิดปกติในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ

7. หากรับประทานยาแอสไพริน, ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดอื่นๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 3 วัน ถ้าเป็นยาแก้อักเสบหรือยาอื่นๆ ต้องหยุดยามาแล้ว 7 วัน

8. ไม่เป็นโรคหอบหืด, ผิวหนังเรื้อรัง, วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่นๆ

9. ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, หัวใจ, ตับ, ไต, มะเร็ง, ไทรอยด์,โลหิตออกง่าย-หยุดยาก หรือโรคประจำตัวอื่นๆ

10. หากถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนหรือรักษารากฟัน ต้องทิ้งระยะอย่างน้อย 3 วัน

11. หากเคยได้รับการผ่าตัดใหญ่ต้องเกิน 6 เดือน, ผ่าตัดเล็ก ต้องเกิน 1 เดือน

12.ท่านหรือคู่ครองของท่านต้องไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือเบี่ยงเบนทางเพศ

13. ต้องไม่มีประวัติยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ ต้องเกิน 3 ปี และมีสุขภาพดี

14. หากเจาะหู, สัก, ลบรอยสักหรือฝังเข็มในการรักษา ต้องเกิน 1 ปี

15. หากมีประวัติเจ็บป่วยและได้รับโลหิตของผู้อื่น ต้องเกิน 1 ปี

16. หากมีประวัติเป็นมาเลเรีย ถ้าเคยเป็นต้องหายมาแล้วเกิน 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ ที่มีเชื้อมาเลเรียชุกชุม ต้องทิ้งระยะอย่างน้อยเกิน 1 ปี จึงบริจาคโลหิตได้

17. ต้องไม่ได้รับวัคซีนในระยะ 14 วัน หรือเซรุ่มในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา

18. ก่อนบริจาคโลหิตต้องรับประทานอาหารให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวข้าวหมู ของทอด ของหวาน แกงกะทิต่างๆ

                การบริจาคโลหิต เป็นการต่อชีวิตให้เพื่อนมนุษย์ ในยามที่เราเจ็บป่วยต้องการโลหิตหรือเมื่อชีวิตของเรากำลังแขวนไว้อยู่กับความเป็นและความตาย หากมีใครสักคนหยิบยื่นความช่วยเหลือ มอบเลือดเนื้อของเขาเพื่อให้ชีวิตเราอยู่รอด เราจะขอบคุณเขามากขนาดไหน ครับเลือดของท่านผู้ที่จะเป็นผู้บริจาค ผู้ให้รายต่อไปก็จะไปเป็นเช่นนั้น เราจะให้โลหิตของเราไปต่อชีวิตใครสักคนที่กำลังเดือดร้อนและต้องการเราจะส่งไปพร้อมกับกำลังใจให้เขาหายดี อย่าลืมนะครับถ้ามีโอกาสมาร่วมกันสร้างมหากุศลด้วยการบริจาคโลหิตช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลกร่วมสังคมด้วยกันที่ชมรมสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ บางแค กรุงเทพ หรือหน่วยบริจาคโลหิตใกล้บ้านท่านนะครับ...

บทความสวรรค์รำลึก โดย ศ.สวรรค์รำลึก

ขอบคุณข้อมูลจาก http://thairedcross.livingmuseum.sc.chula.ac.th/?p=410

และ http://www.dek-d.com/content/education/30403/

Contribute!
Books!
Shop!