ประวัติ พล.ต.ต.พิบูลย์ ภาษวัธน์

  • Print

พล.ต.ต.พิบูลย์ ภาษวัธน์

ประวัติสังเขปของ พลตำรวจตรี พิบูลย์ ภาษวัธน์

กำเนิด เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๓ ที่ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

การศึกษา เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนประจำอำเภอบ้านนา นายกพิทยาคารชั้นมัธยมเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครนายก นาครส่ำสงเคราะห์และโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ จบหลักสูตรมัธยมบริบูรณ์ (ม.๘) แผนกวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ชั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ สำเร็จปริญญาตรีทางกฎหมายเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ (อายุ ๑๙ ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) และสำเร็จปริญญาโททางรัฐศาสตร์มหาบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕

อาชีพการงาน  เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรีที่สำนักงานเลขานุการ สำนักพระราชวังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ต่อมาเมื่อได้โอนไปรับราชการในกรมตำรวจเป็นร้อยตำรวจตรีเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ และได้ปฏิบัติหน้าที่งานตำรวจตลอดมาจนกระทั่งออกจากราชการเมื่อ ปี พ.ศง๒๕๒๔ ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นรองผู้บัญชาการศึกษา ยศพลตำรวจตรี เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้รับคือ ปถมาภรณ์ช้างเผือก

งานพระศาสนา  ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับอนุญาตให้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาสเป็นกรณีพิเศษ มีความรู้สอบได้นักธรรมตรี ได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้งสี่ที่ประเทศอินเดีย และประเทศเนปาล ๒ ครั้ง ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)ที่ประเทศศรีลังกา ๑ ครั้ง

การปฏิบัติธรรมที่สำคัญ  ได้ศึกษาเรื่องจิตวิญญาณศาสตร์ที่สำนักปู่สวรรค์ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นต้นมา ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสมาคมศาสนาสัมพันธ์ภาคีสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ท่านทูตสันติภาพ อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ เป็นนายกสมาคม และได้ร่วมเป็นคณะธรรมทูตศาสนาสัมพันธ์ไปดำเนินงานสร้างภราดรภาพทางศาสนาและส่งเสริมสันติภาพอันถาวรในโลกมนุษย์ เพื่อยับยั้งสงครามโลกครั้งที่ ๓ ยังประเทศต่างๆรวม ๗ ครั้ง จำนวน ๑๔ ประเทศ คือ อินเดีย อิตาลี(นครวาติกัน) อังกฤษ โปแลนด์ มองโกเลีย สหภาพโซเวียต ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สหรัฐอเมริกา (สหประชาชาตินครนิวยอร์ค) เยอรมันนีตะวันตก ฮังการี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์(สหประชาชาติกรุงเจนีวา)

บั้นปลายชีวิต   พลตำรวจตรี พิบูลย์ ภาษวัธน์ เป็นบุคคลที่ยึดมั่นในความดี ทำงานทุกชิ้นด้วยความจริงจังจดจ่อ และซื่อสัตย์สุจริต ในบั้นปลายชีวิตของท่านหลังจากที่ท่านตรากตรำทำงานเพื่อประเทศชาติ และมนุษยชาติมาเป็นเวลายาวนาน ท่านก็ล้มป่วยลง และถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๒๒.๑๐ น. รวมสิริอายุได้ ๘๘ ปี ๓ เดือน