ที่มาของพระคาถาชินปัญชร ฉบับสำนักปู่สวรรค์

  • Print

บทความเรื่อง ที่มาของพระคาถาชินปัญชร ฉบับสำนักปู่สวรรค์

รวบรวมโดย ศ.สวรรค์รำลึก

สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี

                เมื่อเรากล่าวถึงบทสวดมนต์ยอดฮิตในสังคมไทย ก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก “พระคาถาชินปัญชร” ซึ่งได้รับความนิยมในการนำไปท่องบ่นภาวนามาตั้งแต่ครั้งยุคหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี ยังมีสังขารชีพ จวบจนปัจจุบัน ผู้คนในสังคมไทยตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงคนชั้นสูงก็ยังนิยมสวดพระคาถานี้

                มีหลายท่านที่เคยได้รับบทสวดมนต์และพระคาถาชินปัญชรจากสำนักปู่สวรรค์ไปสวดที่บ้าน อาจจะตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมบทพระคาถาชินปัญชรของที่นี่จึงไม่เหมือนกับในหนังสือสวดมนต์เล่มอื่นๆผู้เขียนจึงขอหยิบยกข้อมูลที่เกี่ยวข้องบางประการมานำเสนอดังนี้ครับ

ประวัติของพระคาถาชินปัญชร

                ประวัติของพระคาถาชินปัญชร เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี คือเมื่อครั้งที่หลวงพ่อสมเด็จฯท่านเดินทางธุดงค์ไปยังจังหวัดกำแพงเพชร ท่านได้ไปที่วัดร้างแห่งหนึ่งในสมัยนั้นได้พบกับคัมภีร์เก่าผูกหนึ่งฝังอยู่ในเจดีย์หัก หลวงพ่อสมเด็จฯท่านได้นำติดตัวกลับมาไว้ยังกุฏิของท่านในกรุงเทพด้วย

                เมื่อสมเด็จโตท่านจะสร้างพระเครื่องเพื่อมอบให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯในโอกาสที่ทรงครองราชย์ ท่านก็มีความตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะให้พระเครื่องที่ท่านสร้างนี้มีความศักดิ์สิทธิ์สูงสุด คืนหนึ่งราวตีสาม ท่านได้นิมิตเห็นพระพรหมรูปงามท่านหนึ่งมายืนที่หัวนอนของท่าน ซึ่งทราบต่อมาว่า นามของท่านคือ “ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ” ท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ได้สนทนากับสมเด็จโตในเรื่องต่างๆ และได้ทรงแนะนำวิธีการต่างๆ ในด้านการกำหนดทิศทางมงคล การตั้งพิธี ตามหลักของโลกวิญญาณ เพื่อให้เกิดความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่ท่านจะกลับท้าวมหาพรหมชินนะฯ ได้บอกกับสมเด็จโตว่า หากต่อไปต้องการให้ช่วยในเรื่องใด ให้ระลึกถึงท่านด้วยคำว่า “ชินนะปัญจะระ” ซึ่งต่อมาไม่ว่าสมเด็จโตท่านจะตั้งพิธีปลุกเสกใดๆท่านก็ได้ระลึกถึงพระนามของท้าวมหาพรหมชินนะฯ ท่านก็จะเสด็จมาทรงแผ่พลังช่วยเหลือในการนั้นเสมอ จึงทำให้พระเครื่องที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ท่านสร้างมีความศักดิ์สิทธิ์และเปี่ยมพลังมาจนทุกวันนี้

                ต่อมาเมื่อสมเด็จโตท่านมีความประสงค์ที่จะสร้างพระเครื่องรุ่นสุดท้าย เรียกว่า “สมเด็จอิทธิเจ”จำนวนแปดหมื่นสี่พันองค์ ท่านได้นำพระคัมภีร์โบราณผูกนั้นที่ได้มาจากกำแพงเพชร มาแปลความ เมื่อท่านอ่านดูก็พบว่าจารึกด้วยภาษาสิงหล(ใช้ในศรีลังกา) เป็นโวหาร ท่านแปลได้ความบ้าง ไม่ได้ความบ้าง จับใจความได้ว่าเป็นชื่อของพระอรหันต์ ๘๐ องค์ ท่านได้ตัดต่อแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ง่ายต่อการสวด สรุปแปลความว่า “พระคาถาชินปัญชร” ซึ่งตรงกับพระนามของท่านท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ สมเด็จโตท่านจึงถือพระคาถาบทนี้เป็นการเทิดทูน ท้าวมหาพรหมชินนะฯ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือท่านตลอดมา

พระคาถาชินปัญชรกับสำนักปู่สวรรค์

                เมื่อดวงพระวิญญาณของสมเด็จโตท่านเสด็จมาโปรดสัตว์ ณ สำนักปู่สวรรค์ ท่านมีความตั้งใจที่จะยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น ด้วยการทำให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรม และการปฏิบัติจิตสวดมนต์ภาวนา ประมาณปี พุทธศักราช ๒๕๑๕ หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหรังษี ท่านมีดำริที่จะจัดพิมพ์พระคาถาชินปัญชรพร้อมด้วยเบื้องหลัง เพื่อให้สานุศิษย์และสาธุชนทั่วไปนำไปสวดเพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและสังคมส่วนรวม ในเวลาต่อมาสำนักปู่สวรรค์ก็ได้ใช้บทสวดพระคาถาชินปัญชรฉบับนี้ซึ่งเป็นฉบับที่ดวงพระวิญญาณของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี ได้ทรงรับรองว่าเป็นฉบับที่ตรงกับสำนวนเก่า สมัยที่ท่านแปลไว้มากที่สุด เป็นพระคาถาหลักในบทสวดมนต์ของสำนัก

                เกี่ยวกับเรื่องบทสวดมนต์ชินปัญชร ฉบับสำนักปู่สวรรค์ นี้มีหลายท่านสงสัยว่ามีบางคำที่ไม่ตรงกับบทชินปัญชรในหนังสือสวดมนต์เล่มอื่นๆในปัจจุบัน ก็ใคร่ที่จะขอยกบันทึกของ พระราชญาณดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาเต่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ท่านได้พิจารณาดังนี้

……………………………………………………………..

พระราชญาณดิลก วัดเขาเต่า

วัดเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๕

เขียนจากใจ

                เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๔ อาตมาได้ไปที่สำนักปู่สวรรค์เป็นครั้งแรก ในวันนั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ซึ่งแสดงในวันนั้นรู้สึกจับใจมาก ต่อมาอาตมาได้ไปอีกหลายครั้ง การไปสำนักปู่สวรรค์ทำให้อาตมาได้ทราบและได้รับความสว่างในเรื่องราวต่างๆ ดีขึ้นทั้งทางโลกและทางธรรม ซึ่งยังไม่เคยทราบมาก่อน

                ต่อมาท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)จะจัดพิมพ์พระคาถาชินปัญชรพร้อมด้วยเบื้องหลัง จะให้อาตมาเขียนคำนำและวิจารณ์นั้น อาตมามิกล้าบังอาจจะเขียนวิจารณ์ เพราะเมื่อได้สนทนากับท่านแล้ว จึงได้ทราบถึงสำนวนโวหารในพระคาถานี้ว่า ท่านมีการซ่อนเร้นไว้หลายตอน เช่น คำว่า “สีเล” หมายความว่าศีลที่ต้องดูแล แต่อรรถกถาจารย์รุ่นหลังเปลี่ยนเป็น “สีเส” และมีอีกบางคำเช่น “มัชฌัมหิ” หรือ “มัชฌิมหิ” ของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็น “มัชเฌนหิ” และบางตอนท่านบอกว่ายกสำนวนจากภาษาสิงหลมาล้วนๆ แต่เขียนเป็นภาษาสยามเท่านั้น เพราะฉะนั้น อรรถกถาจารย์ยุคต่อมา ก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แปลตรงตัวเพื่อให้ได้ความตามที่ตนเข้าใจ และโบราณกาลของเรามีหลักว่า ถ้าคาถาใดท่องบ่นแล้วแปลไม่ออกก็จะยิ่งขลัง เพราะฉะนั้น ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็อาจจะมีอารมณ์อันนี้แฝงไว้ในพระคาถานี้ด้วยก็ได้ ซึ่งท่านอ่านพระคาถาชินปัญชรที่พิมพ์จากสำนักปู่สวรรค์แล้ว อาจจะไม่เข้าใจ เพราะสำนวนบางตอนไม่เหมือนฉบับอื่น แต่ขอให้ท่านอ่านเรื่องเบื้องหลังให้ละเอียดท่านก็อาจจะกระจ่าง

                ถ้าท่านไม่กระจ่าง ก็ขอเชิญท่านไปที่สำนักปู่สวรรค์ไต่ถามจากท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็อาจจะเข้าใจได้ หวังว่าทุกคนคงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เพราะการเป็นชาวพุทธที่แท้จริง ย่อมไม่ด่วนลงความเห็นและวิจารณ์สิ่งใดๆโดยการคาดคะเน

                                                                                                                                   จากใจจริง

(พระราชญาณดิลก)

เจ้าอาวาสวัดเขาเต่า

……………………………………………………………..

พระคาถาชินปัญชร (ฉบับสำนักปู่สวรรค์)

ชะยาสะรากะตา พุทธา               เชตตะวามารัง สะวาหะนัง

จะตุสัจจาสะภัง ระสัง               เย ปิวิงสุ นะราสะภา

ตัณหังกะราทะโย พุทธา             อัฏฐะวีสะติ นายะกา

สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง                   มัตถะเก เต มุนิสสะรา

     สีเล ปะติฏฐิโต มัยหัง                 พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง               อุเร สัพพะคุณากะโร

หะทะเย เม อะนุรุทโธ                 สารีปุตโต จะ ทักขิเณ

   โกณทัญโญ ปิฏฐิภาคัส๎มิง           โมคคัลลาโน จะ วามะเก

ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง              อาสุง อานันทะราหุโล

กัสสะโป จะ มหานาโม             อุภาสุง วามะโสตะเก

เกเลนเต ปิฏฐิภาคัส๎มิง               สุริโยวะ ปะภังกะโร

นิสินโน สิริสัมปันโน                 โสภีโต มุนิปุงคะโว

กุมาระกัสสะโป เถโร                 มะเหสี จิตตะวาทะโก

โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง               ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ               อุปาลีนันทะสีวะลี

     เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา                 นะลาเฏ ติละถา มะมะ

เสสาสีติ มะหาเถรา                   วิชิตา ชินะสาวะกา

เอเตสีติ มะหาเถรา                   ชิตะวันโต ชิโนระสา

ชะวันตา สีละเตเชนะ                 อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

ระตะนัง ปุระโต อาสิ                 ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ                   วาเม อังคุลิมาละกัง

   ขันธะโมระปะริตตัญจะ               อาฏานาฏิยะสุตตะกัง

อากาเส ฉะทะนัง อาสิ                 เสสา ปะการะสัณฐิตา  

ชินานานา วะระสังยุตตา             สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา               พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

อะเสสา วินะยัง ยันตุ               อานันตะชินะเตชะสา

     วะทะโต เม สะกิจเจนะ             สะทา สัมพุทธะปัญชะเร  

ชินะปัญชะระมัชเฌนหิ               วิหะรันตัง มะหีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ             เต มะหาปุริสาสะภา

อิจเจวะมันโต                       สุคุตโต สุรักโข

ชินานุภาเวนะ                           ชิตุปัททะโว

ธัมมานุภาเวนะ                     ชิตาริสังโค

สังฆานุภาเวนะ                         ชิตันตะราโย

สัทธัมมานุภาวะปาลิโต     ชะจะรามิ ชินะปัญชะเรติ

ความศักดิ์สิทธ์และอานุภาพของพระคาถาชินปัญชร

                พระคาถาชินปัญชรนี้เป็นการกล่าวสรรเสริญพระอรหันต์ ๘๐ พระองค์และอัญเชิญท่านมาสถิตอยู่ในตัวเราและอวัยวะน้อยใหญ่ในตัวเรา เรียกว่าเป็นกำแพงแก้ว ๗ ชั้นคุ้มครองเรา ท่านที่ประพฤติดี มีศีลธรรม ทำสมาธิ สร้างบุญกุศลอยู่เสมอ เมื่อภาวนาพระคาถาชินปัญชรนี้ เช้าเย็นก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นและยิ่งไปกว่านั้นหากคนในชาติสวดพระคาถาชินปัญชรกันมากๆ นอกจากจะช่วยปกป้องตนเองแล้วยังจะเป็นการป้องกันชาติให้มีความปลอดภัยและมีความรุ่งเรืองขึ้นได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่มีจิตใจแน่วแน่ในการสวดพระคาถาชินปัญชรสามารถภาวนาเพื่อทำน้ำมนต์รักษาโรคภัยเล็กๆน้อยๆได้อีกด้วยนี่เป็นความศักดิ์สิทธิ์บางส่วนที่หยิบยกมาให้พิจารณากัน

                ถึงแม้ว่าบทสวดพระคาถาชินปัญชรที่ท่านผู้อ่านใช้สวดกันเป็นประจำ จะเป็นแบบไหน ท่านผู้รู้กล่าวว่ามีอานุภาพเหมือนกัน ขอเพียงผู้สวดมีความตั้งใจมั่น มีสมาธิในการสวดภาวนา ก็จะมีพลังมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นเราควรมาร่วมสวดพระคาถาชินปัญชรและอธิษฐานให้ตัวเรา ครอบครัว ประเทศชาติของเรา มีความสันติสุขและร่มเย็นสมเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองกันเถิด

เอกสารอ้างอิง :

๑.หนังสือ เบื้องหลังพระคาถาชินปัญชรพร้อมด้วยพระคาถาที่ถูกต้อง” โดย (โต)พรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์   สำนักปู่สวรรค์จัดพิมพ์

๒.หนังสือ ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระและยอดพระคาถาชินปัญชร   เกหลง พานิช รวบรวม ชมรมสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ฯ จัดพิมพ์