สมเด็จโต-ปราชญ์เหนือปราชญ์

  • Print

 สมเด็จโต

ปราชญ์เหนือปราชญ์

 เทศน์เมื่อ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓

อยากจะเป็นอาจารย์ต้องเลิกติดหมาก

คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต : การกินหมากนี่ เสด็จพ่อว่าผิดศีลหรือผิดธรรม ในวินัยบทไหนเจ้าคะ (คุณคุณหญิงระเบียบ เป็นอาจารย์สอนพระอภิธรรม ท่านติดการกินหมาก)

สมเด็จ : ในวินัยเขาเรียกว่า การเป็นพระสงฆ์ต้องอย่าติด การเป็นนักพรตต้องอย่าหลง การเป็นอาจารย์ต้องทำให้เขาดู เพราะอะไรเล่า เพราะว่าถ้าในด้านของคำว่าสัมมาอาชีวะ ในเรื่องของคำว่าเอกสิทธิ์หรือเสรีภาพแล้ว มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพแห่งความคิด มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพแห่งความเดิน มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพแห่งความเคี้ยวนะ กูจะเคี้ยวแบบไหนก็ได้ นี่ว่าตามหลักของคำว่าเสรีภาพแห่งการเป็นมนุษย์

ทีนี้ในหลักของคำว่าศีลนั้น ศีลเป็นบันไดขั้นต้นที่จะให้คนเราทำในกรรมดี คือละเว้นในสิ่งที่คิด เพราะฉะนั้นในการติดหมากนี้ก็ไม่พ้นในศีล ๕ ก็คือว่า ยังมีการติดในสิ่งที่สมมติว่าเป็นสิ่งขมหวาน เป็นสิ่งที่เคี้ยวแล้วมันจะอร่อยนี่คือพลังแห่งความอยู่ในศีล ไม่ได้อยู่ในธรรมคือสภาพของธรรมแล้ว ถ้ากรรมวิบากของกุศลธรรม อยู่ในกระแสจิตของการกระทำในความดี อกุศลธรรมอยู่ในกระแสจิตของการกระทำในความชั่ว เพราะว่าถ้าจะให้อธิบายในหลักของคำว่าเสรีภาพของการเป็นมนุษย์แล้วไม่ผิด แต่ถ้าใช้หลักคำว่าศีลแล้วก็คือว่ายังมีการติดในสิ่งสมมติในความเคี้ยว เคี้ยวเพื่ออะไร

คุณหญิงระเบียบ: ในมโนทุจริต วจีทุจริต หรือกายทุจริตเจ้าคะ

สมเด็จ : อันนี้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ๓ กรรมพร้อมเป็นองค์กรรม

คุณหญิงระเบียบ: กินหมากนี่อยู่ในกรรมไหน

สมเด็จ : อันนี้อยู่ในภาวการณ์ที่เรียกว่า ถ้าในหลักของทุจริตแล้ว ไม่มีทุจริต แต่มีความอยากทุจริตของกรรมน้อยๆ อันนี้เขาเรียกว่ากรรมบาง ทีนี้กรรมบางจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องประกอบด้วยองค์กรรม ๓ คือ เกิดจากมโนกรรม มโนกรรมแห่งจิตได้สำนึกที่ฝังแน่น เกิดความอยากจากมโนกรรม มโนกรรมแห่งจิตใต้สำนึกที่ฝังแน่น เกิดความอยาก เมื่อความอยากเกิดขึ้นมา ก็เกิดความอยากจะได้ จึงหลุดออกมาทางวจีกรรม ถ้าเอ็ง ก็จะบอกว่า แม่อีหนูเอ๊ย เอ็งเอาหมากมาให้กูกินคำซิวะนี่ออกมาทางวจีกรรม คือมันต้องคิดก่อน ถึงจะมาวจีกรรม เมื่อวจีกรรม มาถึงก็ตำใหญ่ๆ ก็กลายเป็นกายกรรม ตำเสร็จก็ยัดเข้าปาก เคี้ยวอุบๆ นี่เข้าสู่กายกรรม เพราะฉะนั้น องค์กรรมที่จะครบต้องเกิดจากมโนกรรม

คุณหญิงระเบียบ: ที่ลูกถามนี่หมายถึงกรรมที่เป็นทุจริตนี่เจ้าคะ

สมเด็จ : กรรมอันนี้ถ้าเข้าสู่ในหลักการปฏิบัติในทางละ ก็เรียกว่าเป็นทุจริตกรรม ทุจริตกรรมในหลักของคำว่ายังอยากสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นสิ่งสมมติไม่สมควรที่จะติด เพราะอะไรเล่า เพราะว่าของของโลก เราต้องรักษาให้โลกเขา ปัจจัยเข้าหามาด้วยหยาดเหงื่อ แต่หามาเสร็จลงมาอยู่ในพลูหมาก นี่เขาเรียกว่าทุจริตต่อโลก สิ่งของโลกที่เราควรจะละได้

คุณหญิงระเบียบ: มโนกรรมมีอะไรเจ้าคะ เสด็จพ่อว่าลูกมีมโนกรรมแล้วออกมาเป็นวจีกรรม กายกรรม มโนกรรมนี่อะไรเจ้าคะ

สมเด็จ : มโนกรรมนี่ คือว่า ทุกอย่างจะต้องเกิดจากการสำนึกของอายตนะภายใน คือต้องมีความคิด มีความอยากขึ้นในมโนยิทธิของตน แบบในการบำเพ็ญฌานก็ต้องตั้งมโนของจิต ให้อยู่ในหลักแห่งการที่จะเอาอะไรเป็นสรณะ จะเอาพุทโธเป็นสรณะ จะเอาธัมโมเป็นสรณะ ต้องตั้งสติของมโนแห่งความยึดขึ้นเพราะฉะนั้นมโนอันนี้หมายความว่ามโนจากอนุสัย เขาเรียกว่าธรรมชาติของจิตใต้สำนึก ที่ฝังแน่นในความเคยชินให้แล่นขึ้นสู่ทางสมองให้คิดอยากจะเคี้ยวหมาก

คุณหญิงระเบียบ: ไม่มีในกายกรรม ๓ นี่ เสด็จพ่อ วจีกรรม ๔ ก็ไม่มี มโนกรรม ๓ ก็ไม่เข้า แล้วจะมาว่าอะไรลูก

สมเด็จ : ทำไมจะไม่เข้า คือถ้าไม่คิดแล้วมันย่อมไม่มีอยาก เมื่อมีอยากก็ย่อมมีการพูด เมื่อพูดก็ย่อมมีการตำ เมื่อตำแล้วก็ย่อมมีการเคี้ยว อย่างนี้ไม่เข้าสู่หลักแห่งองค์กรรมก็เจริญพร พระเจ้าค่ะ ช่วยอธิบายหน่อย

คุณหญิงระเบียบ: ผู้ที่หมดอยากได้แก่บุคคลชนิดใดเจ้าคะ

สมเด็จ : ผู้ที่มีหลักแห่งความหมดอยากในกิเลสแห่งความสิ้นแล้วต้องสำเร็จอนาคามิมรรคอย่างต่ำ ขึ้นถึงอรหัตผล แต่ถ้ายังเป็นโสดาปัตติมรรคแล้ว ยังมีความอยาก ยังมีความอยากเสพกามเป็นบางครั้งบางคราว

คุณหญิงระเบียบ: ทีนี้เสด็จพ่อจะให้ลูกหมดความอยาก จะไม่ให้ลูกมีความอยากหมาก ลูกก็ถามแล้วว่าคนที่ไม่มีความอยากน่ะ ได้แก่ใคร แล้วเสด็จพ่อจะตั้งให้ลูกเป็นอะไรเพคะ

สมเด็จ : ก็พยายามฝึกซิ มนุษย์เราทุกคนนี่เกิดมาเพราะกรรมในอดีต บัดนี้ เป็นเวลามหาอุดมมงคล ที่ทายกทายิกา เหล่าสีกามนุษย์ได้มารวมพร้อมกันในทีนี้ เพื่อฟังในหลักธรรมของคำว่า ละ มนุษย์เรานั้นเกิดจากกรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ภาวะกรรมของตนนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำ อดีตกรรมส่งผลมาให้ปัจจุบันกรรม ปัจจุบันกรรมนำผลสู่อนาคตกาล จะทำอย่างไรเล่า จะให้เราสิ้นจากอาสวะเพื่อหลุดพ้นในกฎแห่งวัฏฏะในกรรม

ทีนี้ มาถามว่าจะตั้งให้เป็นอะไรนั้น มนุษย์เรานั้นต้องมความหวังเป็นสรณะ เพราะฉะนั้น เราก็ควรจะตั้งในความปรารถนา หวังพระนิพพานเป็นจุดแรกของมนุษย์ในการเป็นคน

คุณหญิงระเบียบ: ลูกทูลถามเสด็จพ่อเมื่อกี้ เสด็จพ่อว่าลูกมาถามเพื่ออวดให้ใครๆ เห็นว่าเก่ง ก็แสดงว่าเสด็จพ่อรังเกียจ แล้วทีหลังลูกจะไม่ถาม เพราะพอถามแล้วจะกลายเป็นอวดเก่งไป ลูกจะไม่ถามเสด็จพ่ออีก

สมเด็จ : คือไม่ใช่บอกว่าอวดดี เราถามว่าจะตั้งให้เป็นอะไร เราก็ตั้งความหวังว่า เรานี้จะสำเร็จเป็นอริยมรรค อริยผลแห่งพระนิพพานนั้นคือความหวัง ทีนี้ ในเรื่องที่จะให้ละเรื่องกินหมากนี้ มันต้องอยู่ที่ตัวเองว่า ตัวเรานี้จะต้องปรับปรุงตัวเราเอง แบบเสมือนหนึ่ง องค์สมณโคดมว่า ถ้าท่านไม่บำเพ็ญตน ตถาคตก็ช่วยให้ท่านสำเร็จอรหันต์ไม่ได้ การที่จะสำเร็จถึงพุทธะแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ของกระแสจิตนั้น ต้องอยู่ที่ท่านช่วยตัวท่านเองด้วย ตถาคตมีแต่แผนผังให้ท่าน ตถาคตทิ้งเรือให้ท่าน

ทุกวันนี้โลกมนุษย์มีแต่คนพูดแต่เรือองค์สมณโคดม แต่ไม่มีใครกล้ากระโดดลงไปในเรือองค์สมณโคดม ก็ย่อมไม่ถึงฝั่งฉันใด ฉะนั้นในฐานะที่เรียกว่าเมื่ออดีตเคยมีกรรมพัวพันกันมา ปัจจุบันมาเจอกันพ่ออยู่พรหมโลก ลูกยังเป็นมนุษย์เดินเคี้ยวหมาก มันก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอนให้ว่า

ลูกเอ๋ย ควรจะยุติเรื่องปริยัติ หันมาปฏิบัติกันดีกว่า เพราะว่าในการปริยัตินี้ พ่อทำมาก่อนแล้ว

ตัวต้องปรับปรุงตน  ให้ตนเหนือตน แล้วจะรู้จักการเป็นคน หลักแห่งความจริง ทำไมหลวงปู่จึงเข้าป่า หนีการเป็นสังฆราชในอโยธยา ถ้าว่าตามหลักแล้ว หลวงปู่ทวดนี้ หรือว่า พระภิกษุปูนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ในทางไสยศาสตร์หาตัวจับยากในอโยธยา ต่อมาได้ศึกษา ได้ค้นเข้าไปว่า เมื่อภาวนาการณ์ครั้งหนึ่งมีการพบกันของเหล่ามุนีในการบำเพ็ญ ได้มีมุนีองค์หนึ่ง ได้ถามมุนีอีกองค์หนึ่งว่า ท่านนี้หรือที่เขาเรียกว่าสำเร็จ เป็นผู้มีฌานญาณแห่งความรู้ในทางธรรม มุนีองค์นั้นได้ตอบคำถามของมุนีฝ่ายตรงข้ามด้วยความนั่งนิ่ง บอกว่า นี่คือคำตอบ

ภาวการณ์อันนี้ องค์หลวงปู่ก็ได้ศึกษา ได้ค้นว่า ในความนิ่งจะต้องมีธรรมชาติอันหนึ่งเหนือความนิ่ง ที่เป็นปัจจัตตัง หรือเรียกว่าอาตมัน ก็ได้ทำการหันเข้าสู่ในจุดแห่งการบำเพ็ญธรรมฌาน จึงได้ในด้านของฌานญาณมาก ได้บำเพ็ญในการที่จะปรารถนาในการเป็นพุทธะแห่งยุค

เวลานี้เอ็งก็สอน กูก็สอน เอ็งก็ไปไม่ถึง กูก็เลยไปไม่ถึงด้วย มันก็ว่ากันไปอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในหลักแห่งความจริงที่มาเทศน์ในครั้งนี้ มาในฐานะมีหน้าที่ที่เขามอบหมายมา ให้มาช่วยในการทำงานเพื่อให้ลุล่วงตามเป้าหมายของโลกวิญญาณที่วางไว้ เพราะฉะนั้น เราเป็นอาจารย์สอนธรรมะ ถ้ามีความน้อยใจมันจะไปถึงธรรมได้อย่างไร

คุณหญิงระเบียบ: ก็น้อยใจไม่เท่าไหร่หรอกเจ้าค่ะ แต่ว่าถ้าที่ไหนรังเกียจไม่ไปเกี่ยวข้องด้วย เป็นการไม่ให้เขาเกิดกิเลส เราก็หลีกเลี่ยงไปเสีย

สมเด็จ : ความรังเกียจย่อมไม่มีอยู่ในจิตของอาตมา ภาวนาการณ์มีแต่สอนให้รู้จักการเป็นตัวตน สภาพการณ์ถ้าท่านติดความรังเกียจท่านย่อมไม่ถึงความไม่รังเกียจ ถ้าท่านติดความไม่รังเกียจ ท่านย่อมไม่ถึงความรังเกียจ เพราะฉะนั้น องค์สมณโคดมจึงพยายามสอนว่า อานนท์ เจ้าจงอย่าติดตถาคตเถิด แล้วเมื่อนั้นเจ้าจะถึงตถาคต

วิญญาณของโลกวิญญาณ

คุณหญิงระเบียบ: ลูกจะถามเรื่องว่าเสด็จพ่อพูดถึงโลกวิญญาณบ่อยๆ โลกวิญญาณน่ะมีวิญญาณอย่างเดียวหรือเจ้าคะ

สมเด็จ : คือในภาวะคำว่าวิญญาณนี้ เป็นการครอบงำของจักรวาลพิภพ วิญญาณนั้นเขาแบ่งเป็นกระแสของวิญญาณ แห่งเทพ แห่งพรหมนั้นละลายในกายหยาบหรือยัง มีกายทิพย์หรือเปล่า ละลายกายทิพย์เหลือแต่จิตวิญญาณหรือเปล่า เพราะมันมีกฎความจริงของธรรมชาติอันหนึ่งเขาเรียกว่า สุญญากาศ สูญ ในตัวนี้ไม่ใช่สูญเปล่า สูญเขาเรียกว่า สูญของอาตมันแห่งความรวมของกระแสจิตและวิญญาณ สู่ในแนวแห่งความว่างแห่งสรรพ เขาเรียกว่าวิญญาณนั้นห่างกิเลสจากกิเลส สิ้นจากอาสวฌาน รวมตนเป็นสูญอันนั้น เป็นสูญที่พูดเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อันนี้ต้องย้อนเขาพุทธพจน์แห่งองค์สมณโคดมว่า

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดถึงธรรม ผู้นั้นถึงตถาคต

ถ้าถึงจุดแห่งความรู้บริสุทธิ์นี้ อธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ง่ายและคำว่าวิญญาณซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดลออแห่งความถี่ยิบของเขา เรียกว่ายิ่งกว่าน้ำนั้น เป็นภาษาที่พูดไปแล้ว องค์สมณโคดมเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค คงไม่ทิ้งท้ายในพุทธพจน์อันนี้

เพราะฉะนั้น จึงว่าวิญญาณนี้ วิญญาณของโลกวิญญาณ เขามีพรหมโลก เทวโลก ยมโลก นรกโลก ต่างก็เป็นโลกอีกโลกหนึ่งวิญญาณเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ มนุษย์จะเกิดก็ต้องอาศัยวิญญาณของตน เขาเรียกว่าวิญญาณอดีตผสมวิญญาณปัจจุบัน ของการก่อกรรมเพื่อให้ปฏิสนธิกลายเป็นคน

อันนี้ต้องไปฟังที่อาตมาเทศน์ไว้ เรื่องคำว่า ทำไมจึงเกิดมาลืมอดีตชาติ ที่เทศน์ไว้มีแยะ และจะให้ท่านในเรื่องรายละเอียดของเรื่องวิญญาณนี้ ก็ต้องมาศึกษาที่เทศน์ไว้ก่อน แล้วค่อยมาถาม เพราะว่าอาตมานี้มีเวลาจำกัด แล้วก็ไม่มีเวลาที่จะมาเทศน์ย้อนกลับกันไป ย้อนกันมา เขาเรียกว่า เทศน์ในปัญหาที่คนไม่ถาม เพื่อทิ้งอนุสรณ์เพื่อคนรุ่นหลัง

เนื้อหาจากหนังสือ โต พรหมรังษี  สำนักโลกวิญญาณ รวบรวมโดย เกหลง พาณิช